
ซีตั้งใจไว้ว่า หลังจากวีซ่าติดตามสามีได้รับการอนุมัติแล้ว จะมาเขียนวิธีการขอวีซ่าให้ผู้ที่จะเดินทางติดตามสามี/ ภรรยา หรือบุตรมาอยู่ที่ประเทศเบลเยียมได้ทราบ เพราะเนื่องจากตอนที่ตนเองยื่นวีซ่านั้น หาข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดการขอวีซ่าประเภทนี้ยากมากๆ แต่เมื่อจะลงมือเขียนได้ลองเซิชดู พบว่ามีรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารที่ต้องใช้ในการขอวีซ่าติดตามสามีเป็นภาษาไทยอยู่แล้วในหลายเว็บไซต์ ในบล็อคโพสต์นี้ ซีจึงขอเน้นที่วิธีการ ทำอย่างไร ไม่ให้ถูกปฏิเสธวีซ่า
ในโพสต์นี้ซีจะลงรายละเอียดของเอกสารที่สถานทูตเบลเยียมในประเทศไทยต้องการ ทีละข้อ ว่าผู้ยื่นวีซ่าต้องทำอย่างไรกับเอกสารนั้นๆ ควรแนบเอกสารอะไรเพิ่มเติม หรือไม่ควรทำอะไรบ้าง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามมาได้ทาง comment หรือ Direct message ผ่านทาง IG @mysealifestyle (ช่องทางนี้จะเช็คบ่อยกว่าค่ะ)
เริ่มจากประเภทของวีซ่ากันก่อนเลยนะคะ หากคุณมีสามี/ภรรยา หรือบุตรอาศัยอยู่ที่ประเทศเบลเยียม (ในโพสต์นี้ซีจะเรียกว่าสปอนเซอร์ หรือผู้รับรอง) แล้วต้องการเดินทางมาอาศัยอยู่ร่วมกันที่ประเทศเบลเยียมอย่างถาวร โดยจะสามารถเปลี่ยนสัญชาติเป็นคนเบลเยียมได้ในภายภาคหน้า คุณต้องยื่นขอวีซ่าประเภท “วีซ่าเพื่อติดตามคู่สมรสชาวเบลเยียมเพื่อไปอาศัยในประเทศเบลเยียม” (FAMILY REUNION WITH BELGIAN SPOUSE) หรือเรียกกันสั้นๆว่า Visa D ซึ่งจะเป็นวีซ่าระยะยาว นั่นหมายความว่าเมื่อคุณได้รับการอนุมัติวีซ่าประเภทนี้แล้ว หลังจากที่เดินทางมาที่ประเทศเบลเยียม แจ้งกับทางอำเภอเป็นที่เรียบร้อย คุณจะได้รับการ์ดเพื่ออาศัยในประเทศเบลเยียม (ไม่ต้องขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าประเทศอีกต่อไป) ส่วนการเปลี่ยนสัญชาติเป็นเบลเยียมนั้น จะขออธิบายในภายหลัง ในขั้นตอนนี้ซีขอแนะนำให้คุณคลิกที่ชื่อประเภทของวีซ่าเพื่อไปยังหน้าเว็บไซต์ของสถานทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย แล้วดาวน์โหลดเอกสารที่สถานทูตต้องการโดยคลิกที่ประเภทของวีซ่าได้เลย หรือสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่นี่จากลิงค์ด้านล่างค่ะ เอกสารจะมี 4 หน้า ภาษาอังกฤษ 2 หน้า ภาษาไทย 2 หน้า โดยเอกสารภาษาไทยจะมีหน้าตาเหมือนรูปด้านล่าง เมื่อปริ๊นท์มาแล้วให้ค่อยๆเตรียมเอกสารทีละข้อ แล้วถ่ายสำเนาเอกสารทุกอย่าง (ใช้ 2 ชุด) โดยให้จัดเรียงตามลำดับ (ข้อ1 อยู่ด้านบนสุด)
เอกสารที่ต้องยื่นนั้นแบ่งเป็น 4 ส่วนหลักๆ ได้แก่
เอกสารส่วนที่ 1 เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง (ข้อ 1-5)
เอกสารส่วนที่ 2 เอกสารของคู่สมรสเบลเยียม (พำนักอาศยัอยู่ในประเทศเบลเยียม) (ข้อ 6-9) *เอกสารส่วนนี้สำคัญมากในการพิจารณาวีซ่า เนื่องจากคู่สมรสของคุณจะเป็นผู้รับรองว่า เมื่อคุณมาอยู่ที่ประเทศเบลเยียมแล้ว คุณจะไม่สร้างปัญหา ไม่เป็นภาระให้กับรัฐบาล นั่นหมายความว่าคู่สมรสของคุณต้องมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะรับรองตัวคุณได้ (จะลงรายละเอียดอีกครั้งในข้อ 6-9)
เอกสารส่วนที่ 3 เอกสารจากคู่สมรสทั้งสองฝ่าย (ข้อ 10) *เอกสารส่วนนี้ก็เป็นส่วนที่สำคัญมากเช่นกันในการพิจารณาวีซ่า ว่าคุณทั้งคู่เป็นคู่รักกันจริง ไม่ได้มีการจ้างแต่งงาน หรือ fake married
เอกสารส่วนที่ 4 เอกสารจากผู้ยื่นคำร้องขอวีซ่า (ข้อ 11-15)
ทีนี้สูดลมหายใจลึกๆ ตั้งใจดีๆ เราจะมาเข้าสู่ขั้นตอนส่วนที่ยากที่สุดกันแล้วค่ะ
เริ่มจากข้อแรก : พาสปอร์ต สิ่งที่จะเน้นย้ำคือ ต้องมีอายุบังคับใช้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ปี นับจากวันที่ยื่นคำร้อง ซีแนะนำว่า ถ้าเหลือเวลา 9 เดือน หรือ 11 เดือน ก็ควรเปลี่ยนเล่มใหม่ เพื่อความแน่นอน ส่วนพาสปอร์ตเล่มเก่าที่คุณเคยเดินทางมาเที่ยวเบลเยียม และมีตราสแตมป์เข้าประเทศ พร้อมทั้งวีซ่าทุกประเภท ควรเก็บไว้อย่างดี และถ่ายเอกสารยื่นเป็นหลักฐานให้กับทางสถานทูตด้วย
ข้อ 2 แบบฟอรม์คำร้องขอวีซ่าระยะยาวสำหรับประเทศเบลเยียม สามารถคลิกข้อความด้านหน้าเพื่อไปดาวน์โหลดที่เว็บไซต์ของสถานทูต หรือดาวน์โหลดจากลิงค์ด้านล่างได้เลยค่ะ อันนี้ซีขอไม่ลงรายละเอียดนะคะ เนื่องจากที่เว็บไซต์ของสถานทูตเองมีตัวอย่างการกรอกแล้ว
ข้อ 3 สำเนา หลักฐานการโอนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษไปยังแผนกตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการมหาดไทยเบลเยี่ยม ข้อนี้ขอเน้นเลยค่ะ เพราะวันที่ซีไปยื่นเอกสารก็มีผู้สมัครหลายคนไม่เข้าใจ และไม่ได้ทำตามขั้นตอนซึ่งจะทำให้เสียเวลามาก ถ้าคุณนัดยื่นเอกสารช่วงบ่ายอาจจะโอนเงินไม่ทัน ต้องมานัดมาวันหลังอีก เนื่องจากลิงค์ของเอกสารข้อนี้ใช้งานไม่ได้ ซีจึงโทรไปสอบถามกับทาง VFS ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ให้คำแนะนำดีมากค่ะ พร้อมส่งเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการโอนเงินมาให้ทางอีเมลล์ (ซึ่งซีได้แปะลิงค์ไว้ให้ดาวน์โหลดด้านล่างแล้ว)
ยอดเงินที่ต้องโอนคือ 207€ (ยูโร) โอนให้ใคร? และ เป็นค่าอะไร? เงิน 207€ หรือเป็นเงินไทยประมาณ 7,495 บาท (เรท ณ วันที่ 11/2/2021) เป็นเงินค่าธรรมเนียมการยื่นวีซ่าระยะยาว ผู้สมัครจะต้องโอนให้กับกระทรวงการต่างประเทศของเบลเยียมโดยตรง นั่นหมายความว่าเงินจำนวนนี้จะไม่รวมค่าใช้จ่ายของศูนย์ยื่นวีซ่า VFS ซึ่งวันที่ผู้สมัครไปยื่นเอกสารต้องชำระตามปกติ คลิกเพื่อดูค่าธรรมเนียมของศูนย์ยื่นวีซ่า VFS
เพื่อความสะดวกซีแนะนำให้ทางสามี หรือคนที่อยู่เบลเยียมโอนเงินให้กับกระทรวงการต่างประเทศโดยตรงทางคอมพิวเตอร์จะสะดวกมาก ขณะโอนให้ใส่รายละเอียดการโอนเงิน (ตามรูปที่แปะไว้ให้ด้านล่าง) เมื่อโอนเงินเสร็จให้เซฟรายละเอียดการโอนเงินเก็บไว้ ปริ้นท์ออกมา และนำมายื่นเป็นหลักฐานของข้อ 3

ข้อ 4 เอกสารการเลือกภาษา : อันนี้ไม่ต้องเตรียมค่ะ ไปรับที่ VFS ในวันที่ยื่นเอกสารได้เลย ทางเจ้าหน้าที่จะถามว่า ต้องการรับผลของวีซ่าเป็นภาษาอะไร มีให้เลือกระหว่างภาษาฝรั่งเศส กับ เนเธอร์แลนด์ สามีของคุณพูดภาษาไหนก็เลือกภาษานั้นค่ะ (เช่นเดียวกับการแปลเอกสารต่างๆ ให้เลือกภาษาที่ใช้ในท้องที่ที่คุณจะไปอาศัยอยู่)
ข้อ 5 : สำเนา หน้าหนังสือเดินทางหน้ารูปพรรณ 1 ฉบับ *อันนี้ของแนะนำว่าให้ถ่ายเอกสารจากร้านที่ค่าถ่ายเอกสารถูกๆ ไว้เลย 5 ฉบับ เพราะบางครั้งเจ้าหน้าที่จะขอเพิ่ม แล้วถ้าไปถ่ายเอกสารที่ศูนย์ยื่นวีซ่า VFS จะมีค่าบริการแผ่นละ 5 บาท ซีเคยเสียค่าถ่ายเอกสารเกือบ 3,000 บ.มาแล้ว
ข้อ 6 : สำเนาเอกสารแสดงถิ่นที่อยู่ในประเทศเบลเยี่ยม (ถ่ายหน้า+หลัง) อาทิเช่น บัตรประชาชนเบลเยี่ยม, บัตร CIRE, CIE, A, B, C, D, F, หรือ F+ หากคุณเลือกประเภทวีซ่าประเภทนี้ สามีของคุณต้องมีบัตรประชาชนเบลเยียมเท่านั้น ถ้าเป็นบัตรประเภทอื่นก็ต้องเลือกวีซ่าประเภทอื่น แต่สามารถอ่านบทความนี้เพื่อเป็นไกด์ได้ เนื่องจากการเตรียมเอกสารส่วนใหญ่ไม่ต่างกันมาก สรุปเอกสารข้อนี้ สำเนาบัตรประชาชนเบลเยียมของสามี 2 ชุด
ข้อ 7 : หลักฐานที่แสดงถึงที่พักอาศัยในประเทศเบลเยียม
7.1 ) หากสามีของคุณเป็นเจ้าของบ้านใช้ Composition de ménage (ฝรั่งเศส) หรือ Gezinssamenstelling (เนเธอร์แลนด์) หรือภาษาไทยคือทะเบียนบ้านนั่นเองค่ะ ในเอกสารก็จะมีรายชื่อว่าใครเป็นเจ้าบ้าน และมีผู้อาศัยอยู่ในบ้านกี่คน เป็นใครบ้าง
7.2) หากบ้านที่คุณอยู่เป็นบ้านเช่า ต้องแสดงสัญญาเช่า โดยทางสามีต้องนำสัญญาเช่าไปประทับตราที่ที่ว่าการอำเภอที่มีทะเบียนบ้านอยู่ด้วย
ในส่วนนี้ซีจะขอขยายความอีกครั้งในรายละเอียดของเอกสารข้อ 8 ว่าคุณควรจะยื่นเอกสารแบบใด และมีวิธีการอย่างไรไม่ให้ถูกปฏิเสธวีซ่าเพราะทางผู้พิจารณามองว่า ผู้รับรองไม่สามารถดูแลคุณได้
ข้อ 8 : เอกสารยืนยันรายได ้ประจำอย่างน้อย 6 เดือน อาทิเช่น สลิปเงินเดือน 6 เดือนสุดท้าย เงิน ช่วยเหลือครอบครัว สำเนาหลักฐานแสดงรายได้สุทธิประจำปีหลังชำระภาษีอากรสำหรับผู้ประกอบการอิสระ)
8.1) ถ้าคู่สมรสของคุณทำงานประจำ ให้คุณยื่นสลิปเงินเดือนของสามี/ภรรยา ย้อนหลังอย่างต่ำ 6 เดือน ข้อนี้สำคัญมากนะคะ ถ้าหากคู่สมรสของคุณเพิ่งเริ่มทำงาน และอาจยังทำงานได้ไม่ถึง 1 ปี ซีแนะนำว่ารอก่อนค่ะ รอให้สามีทำงานครบปีก่อนแล้วค่อยยื่น เพราะหากยื่นเลย มีโอกาสที่จะถูกปฏิเสธวีซ่าสูงมาก เพราะทางผู้พิจารณาจะมองว่าสามีของคุณมีอาชีพการงานที่ไม่มั่นคง ไม่สามารถเลี้ยงดูคุณได้ที่ประเทศเบลเยียม
ในข้อนี้หากคุณมีสัญญาจ้างงานแบบถาวร (CDE) ก็สามารถแนบมาได้กับสลิปเงินเดือนค่ะ จะเป็นผลดีต่อการพิจารณาว่าสามีของคุณมีการงานที่มั่นคง
มาถึงจุดสำคัญในส่วนของสลิปเงินเดือนนะคะ ทางเบลเยียมจะมีการกำหนดดัชนีชี้วัดของเงินเดือนขั้นต่ำของสปอนเซอร์ (หรือสามีของคุณที่ทำงานที่เบลเยียม) หากสปอนเซอร์มีรายได้สุทธิต่อเดือนต่ำกว่า 1,596.89 สุทธิ/ เดือน มีโอกาสสูงที่คุณจะถูกปฏิเสธวีซ่า ข้อมูลอัพเดท ณ วันที่ 1/1/2021 คุณสงสัยไหมว่ายอด 1,596.89 สุทธิ/ เดือน มาจากไหน? สามารถแสดงรายได้อื่นๆแทนได้ไหม? รายได้ประเภทใดบ้างที่ทางผู้พิจารณาวีซ่ารับพิจารณา และรายได้ประเภทใดที่ไม่รับพิจารณา สามารถอ่านรายละเอียดได้ ที่นี่ ค่ะ
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วหากสามี/ภรรยาของใครมีรายได้ไม่ถึง อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ ซีมีทางแก้
8.1.1) เป็นไปได้ว่าสปอนเซอร์ของคุณอาจมีเงินเดือนไม่ถึงเนื่องจากคุณอาจทำงานที่รับเงินสดบางส่วน (ทางเบลเยียมจะเรียกว่าเงินมืดที่ไม่ต้องเสียภาษี) เนื่องจากประเทศเบลเยียมเก็บภาษีรายได้จากการทำงานแพงเป็นอันดับต้นๆของยุโรป ดังนั้นอาจมีผู้ประกอบการบางรายแก้ปัญหาด้วยการจ่ายเป็นเงินมืด เนื่องจากผู้พิจารณาวีซ่าเป็นตัวแทนของรัฐบาล ดังนั้นเงินมืดจะไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นรายได้ แล้วคุณต้องทำอย่างไร?
1.1) ที่อยู่อาศัยช่วยได้ (ขยายความจากข้อ 7) หากบ้านที่สปอนเซอร์อยู่ เป็นบ้านของตัวสปอนเซอร์เอง หรืออาจเป็นบ้านของพ่อแม่ที่ให้สปอนเซอร์สามารถอาศัยอยู่ได้ฟรี ส่วนนี้จะช่วยเรื่องรายได้ได้มากทีเดียว เนื่องจากดัชนีรายได้ที่ตามกฎหมายกำหนดนั้น ได้รวมภาระในการจ่ายค่าเช่าบ้านไว้แล้วด้วย หากคุณไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ก็เท่ากับว่าคุณประหยัดรายจ่ายต่อเดือน 500-1,000 ยูโรเลยทีเดียว แต่การบอกว่าคุณไม่ได้จ่ายค่าเช่าบ้านนั้น บอกปากเปล่าไม่ได้ คุณต้องแสดงเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไร?
1.1.1) หากบ้านที่อาศัยเป็นบ้านของตัวสปอนเซอร์เอง ให้แสดง Composition de ménage ซึ่งมีรายละเอียดของชื่อเจ้าของบ้านอยู่แล้ว
1.1.2) หากบ้านที่อาศัยเป็นของพ่อแม่ หรือญาติพี่น้อง
- แสดง Composition de ménage
- ให้เจ้าบ้านเขียนจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษรว่า อนุญาตให้สปอนเซอร์ และผู้ยื่นคำร้องขอวีซ่ามาอาศัยที่บ้านหลังนี้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนของเจ้าบ้านมาด้วย
1.2) รายได้จากการมีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เช่น หากสปอนเซอร์ไม่ได้ทำงาน หรือทำงานแต่มีรายได้ไม่ถึงตามที่กำหนด แต่สปอนเซอร์มีบ้าน หรืออพาร์ทเม้นท์ให้คนเช่า รายได้ส่วนนี้ทางผู้พิจารณาวีซ่ารับพิจารณาว่าเป็นรายได้ของสปอนเซอร์ ให้แสดงสัญญาเช่า และเอกสารความเป็นเจ้าของบ้านหรือ อพาร์ทเม้นท์นั้นๆ
8.2) หากสปอนเซอร์ของคุณทำธุระกิจส่วนตัว ให้แสดงสำเนาหลักฐานแสดงรายได้สุทธิประจำปีหลังชำระภาษีอากรสำหรับผู้ประกอบการอิสระ หรือใบเสียภาษีนั่นเอง (ในส่วนของใบเสียภาษีนี้ผู้ทำงานประจำไม่ต้องยื่น) หากสปอนเซอร์ประกอบอาชีพอิสระ ใบเสียภาษีจะแสดงรายได้ต่อปีทั้งหมดของสปอนเซอร์ หากต้องการตรวจสอบว่าถึงดัชนีที่ทางผู้พิจารณากำหนดไหม ให้นำรายได้ทั้งหมดมาหารด้วย 12 (เดือน)
ข้อ 9 : หนังสือรับรองว่าคู่สมรสเบลเยียม มีประกันสุขภาพ/ประกันสังคมในประเทศเบลเยียมสำหรับตัวเอง
รวมถึงคุ้มครองผู้ยื่นคำร้องขอวีซ่าด้วย แนะนำให้ยื่นเอกสารนี้ เนื่องจากหากคุณมีเอกสารนี้แล้วก็ไม่ต้องยื่นเอกสารข้อ 15 หรือไม่ต้องซื้อประกันการเดินทางจากประเทศไทย
ในส่วนนี้ให้สปอนเซอร์ติดต่อไปทางประกันสุขภาพของตัวเอง แจ้งว่าแต่งงานแล้วและแสดงทะเบียนสมรส โดยต้องการให้นำชื่อของภรรยาเข้ามารวมในประกันสุขภาพ ทางประกันก็จะจัดการให้ ภาพด้านล่างเป็นตัวอย่างใบประกันสุขภาพของซีเอง เมื่อสปอนเซอร์ของคุณที่ทำประกันไว้ติดต่อไป ทางประกันจะส่งเอกสารนี้กลับมาให้ทางอีเมลล์ คุณสามารถปริ๊นท์เอกสารนี้เพื่อนำมายื่นกับทางสถานทูตได้เลย

ข้อ 10 : หลักฐานการสมรส : “สำเนาใบสำคัญการสมรส” และ “สำเนาทะเบียนการสมรส” ในข้อนี้สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่เอกสาร แต่ต้องทำอย่างไรให้ทางผู้พิจารณาวีซ่าเชื่อมั่นว่าการสมรสของคุณกับสปอนเซอร์นั้นเป็นการสมรสจริง (ไม่ได้เป็นการจ้างให้แต่งงานเพื่อจะไปทำงานที่เบลเยียม) ซีแนบเอกสารเพิ่มเติมในส่วนนี้ดังนี้
10.1) วีซ่าสแตมป์ของทั้งตัวเองและสามี ทุกครั้งที่สามีมาประเทศไทย และทุกครั้งที่ซีไปเยี่ยมที่เบลเยียมตลอดระยะเวลาที่คบกันมา
10.2) ซีทำ Chronological history of relationships ของซีและสามี อธิบายตั้งแต่เจอกันครั้งแรกปีอะไร , ไปเที่ยวด้วยกันที่ไหน และเมื่อไหร่บ้าง ทั้งไทยและต่างประเทศ, แต่งงานวันที่เท่าไหร่ พร้อมแนบรูปถ่ายตามลำดับเหตุการณ์ด้วย (ตัวอย่างด้านล่าง)

ส่วนเอกสารข้อ 11-15 สามารถยื่นเอกสารอย่างเดียวได้เลย ไม่ต้องแนบเอกสารอื่นๆประกอบ และหากคุณมีเอกสารข้อ 9 แล้ว ข้อ 15 ก็ไม่จำเป็นต้องยื่น
สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกคนโชคดีในการขอวีซ่านะคะ สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมเอกสารทุกอย่างให้ครบ และแยกเป็น 2 ชุด หากคุณเตรียมเอกสารตามนี้ คุณจะไม่ยุ่งยากในวันที่ยื่นเอกสารแน่นอนค่ะ ถ้าคุณอ่านแล้วมีข้อสงสัยสามารถส่ง Direct message มาถามทาง IG ตามลิงค์นี้ หรือคลิกที่รูปซีด้านล่างได้เลยค่ะ